ลูกจ้างลาป่วยเกิน 30 วัน นายจ้างเลิกจ้างได้หรือไม่?
อุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยที่ทำให้ลูกจ้างต้องลาป่วยนานเกิน 30 วันเป็นเรื่องที่น่ากังวล ทั้งต่อลูกจ้างและนายจ้าง น้องบีพลัสจะมาพูดถึงสิทธิการลาป่วยของลูกจ้างตามกฎหมาย การจ่ายค่าจ้างในระหว่างการลาป่วย และสถานการณ์ที่บริษัทอาจพิจารณาเลิกจ้างได้หากเกิดการหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน
สิทธิการลาป่วยและค่าจ้างในช่วงลาป่วย
ตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 32 ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และมาตรา 57 กำหนดให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างตลอดช่วงลาป่วยไม่เกิน 30 วันทำงานในแต่ละปี ดังนั้น หากลูกจ้างลาป่วยด้วยเหตุผลทางการแพทย์ บริษัทต้องดำเนินการดังนี้:
- จ่ายค่าจ้างในช่วง 30 วันแรก
นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างในช่วงการลาป่วย 30 วันแรก หากเป็นไปตามสิทธิที่กฎหมายระบุ
- หลังจาก 30 วันแรก
ลูกจ้างยังมีสิทธิ์ลาป่วยต่อไปหากจำเป็น แต่จะไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับวันลาป่วยที่เกิน 30 วัน และจะไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์หรือวันหยุดตามประเพณีที่มาถึงหลังวันลาป่วยเกิน 30 วัน
กรณีที่บริษัทอาจเลิกจ้างลูกจ้างได้
การที่ลูกจ้างลาป่วยด้วยเหตุจากอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยเกิน 30 วันนั้น ไม่ใช่เหตุที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ทันที เพราะการเลิกจ้างในกรณีนี้ไม่มีความผิดของลูกจ้าง หากนายจ้างต้องการเลิกจ้างด้วยเหตุนี้ อาจต้องพิจารณาสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้างตามกฎหมาย ซึ่งแบ่งออกเป็นกรณีดังนี้:
- การเลิกจ้างที่เป็นธรรม: หากความเจ็บป่วยหรือการประสบอุบัติเหตุทำให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเกิดการหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน บริษัทสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามเหตุสมควร ซึ่งถือเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลและไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงาน
- การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: หากเลิกจ้างลูกจ้างเพียงเพราะลาป่วยโดยไม่มีการพิจารณาสมรรถภาพในการทำงาน อาจถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และนายจ้างอาจต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าตกใจให้กับลูง
ถูกเลิกจ้างแล้วได้อะไรบ้าง? 3 สิ่งที่พนักงานควรรู้
ค่าชดเชยและค่าตกใจเมื่อเลิกจ้าง
ในกรณีที่บริษัทตัดสินใจเลิกจ้างเนื่องจากเหตุผลด้านสมรรถภาพในการทำงาน นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน เพื่อให้ลูกจ้างมีหลักประกันทางการเงินในการเริ่มต้นใหม่ รวมถึงค่าตกใจในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้มีความผิดในการทำงาน
สรุป
การเลิกจ้างลูกจ้างที่ลาป่วยเนื่องจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยเกิน 30 วันเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนตามข้อกฎหมายแรงงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในช่วง 30 วันแรก และพิจารณาสมรรถภาพในการทำงาน หากมีเหตุผลที่สมควรในการเลิกจ้าง สามารถทำได้โดยไม่ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ที่มา เพจ คลินิกกฎหมายแรงงาน